ซีพีคว้ารถไฟฯเชื่อม3สนามบิน-จ่อเซ็น 31 ม.ค.62

563

cr.เพจ ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภุมิ และอู่ตะเภา ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท หลังจากการตรวจสอบข้อเสนอซองที่ 3 ด้านการเงิน ของกลุ่มซี.พี.และพันธมิตรที่เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด

โดยล่าสุดเมื่อ เมื่อ 21 ธันวาคม 2561 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย บอกว่า ผลการพิจารณาซองข้อเสนอด้านราคา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกิจการร่วมค้า เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง ที่ประกอบด้วย บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด, บริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น, บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) และ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน) เป็นผู้เสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์ ที่เสนอขอรับอุดหนุน 169,934 ล้านบาท

 

ด้านประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจนก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มซีพี.ชี้แจงเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเจรจาต่อรองราคาในวันที่ 3 ม.ค. 62 หากเรียบร้อยก็จะเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในช่วงกลางเดือน ม.ค.62 จากนั้นจะลงนาม สัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.62

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กม. มีผู้เดินรถรายเดียวกัน ซึ่งรถไฟความเร็วสูงมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง

สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา ความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ สถานีดอนเมือง สถานีบางซื่อ สถานีมักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา

โครงสร้างทางวิ่งของโครงการ ประกอบไปด้วย ทางวิ่งโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ปัจจุบัน (ARL) ระยะทางประมาณ 29 กิโลเมตร และทางวิ่งที่ต้องก่อสร้างใหม่ประมาณ 191 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นจำแนกลักษณะรูปแบบโครงสร้างทางวิ่งทั้งโครงการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) ทางวิ่งยกระดับระยะทางประมาณ 181 กิโลเมตร 2) ทางวิ่งระดับดินระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร และ 3) ทางวิ่งใต้ดินระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร

การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟในพื้นที่มักกะสันของ รฟท. ประมาณ 150 ไร่ ต้องเป็นการพัฒนาร่วมไปกับการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการสนับสนุนบริการรถไฟและบริการผู้โดยสาร รวมทั้งพื้นที่โดยรอบสถานีศรีราชา ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งสามารถนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์ร่วมกับโครงการได้ทันที

นี่คือ ความคืบหน้า การคัดเลือกโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภุมิ อู่ตะเภา ซึ่งหากเรียบร้อย จะลงนาม สัญญาภายในวันที่ 31 ม.ค.62 ก่อนจะเดินหน้าในกนะบวนการก่อสร้างต่อไป โดยจะเปิดให้บริการ ใน พ.ศ. 2566 ครับ