มิติใหม่! ไทย-ลาว ประกาศเป็น“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ฯ”

461

cr.ทำเนียบรัฐบาล

 

มาติดตามความสัมพันธ์ของไทย ลาว ที่แน่นแฟ้นมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในระยะหลายปีที่ผ่านมา

โดยเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2561 ที่นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ภายหลังการประชุม JCR ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีแห่ง สปป. ลาว เข้าร่วมพิธีมอบความช่วยเหลือเหตุอุทกภัยในแขวงอัตตะปือเพิ่มเติมในระยะฟื้นฟู พิธีมอบโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษานครหลวงเวียงจันทน์ และเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำนวน 7 ฉบับ ได้แก่

 

cr.ทำเนียบรัฐบาล

 

1. ร่างแถลงการณ์ร่วม JCR ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยกับ สปป. ลาว
2. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กับรัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการก่อสร้างสวนรุกขชาติไทย – ลาว ณ สปป. ลาว ระหว่างอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กับ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว
4. บันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าฉบับใหม่ ระหว่างผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กับ ผู้อำนวยการใหญ่รัฐวิสาหกิจไฟฟ้า สปป.ลาว
5. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านยุติธรรมและกฎหมายไทย – ลาว ระหว่างรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กับ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม สปป.ลาว
6. บันทึกความร่วมมือด้านการขนส่ง ระหว่าง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว
7. ร่างกรอบความร่วมมือว่าด้วยการตรวจคนเข้าเมือง ระหว่าง ผู้บัญชาการสำนักงาน ตรวจคนเข้าเมือง และ หัวหน้าตำรวจตรวจคนเข้าออกเมือง กระทรวงป้องกันความสงบ สปป. ลาว

 

cr.ทำเนียบรัฐบาล

 

จากนั้นนายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายกรัฐมนตรีมีความยินดีที่ได้กลับมาเยือน สปป. ลาวอีกครั้งหนึ่ง ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด เพื่อเข้าร่วมการประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ หรือ JCR ไทย – ลาว ครั้งที่ 3 และเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้มีโอกาสเยี่ยมคารวะนายบุนยัง วอละจิด ประธานประเทศ สปป. ลาว ระหว่างการเยือนลาวครั้งนี้ การประชุม JCR ไทย-ลาว ครั้งที่ 3 นับเป็นโอกาสดีที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ และร่วมกำหนดแนวทางการยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ลาวให้เข้าสู่ศักราชใหม่ของ “ความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” พร้อมย้ำว่าไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือไทย – ลาว ใน 3 มิติ ดังนี้

 

cr.ทำเนียบรัฐบาล

 

ด้านการบริหารจัดการชายแดน ไทยยืนยันที่จะร่วมพัฒนาให้ชายแดนไทย – ลาวเป็นชายแดนแห่งความเจริญรุ่งเรือง รองรับความท้าทายด้านความมั่นคง และรับมือกับภัยจากการลักลอบค้ายาเสพติด ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเพิ่มบทบาทของกองทัพในการร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดนไทย – ลาว โดยใช้กำลังทหาร และตำรวจในพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติงาน

ด้านการสอดประสานทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงไร้รอยต่อ ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะเสริมสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกันผ่านการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อตามแผนแม่บท แอคเม็กซ์ (ACMECS Master Plan) โดยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็นสองเท่าภายในปี 2564 หรือ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ฝ่ายไทยกำลังดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) และพิจารณาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ในขณะที่ฝ่ายลาวตกลงที่จะเร่งรัดเปิดพื้นที่ควบคุมร่วม (CCA) ที่ด่านสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร – สะหวันนะเขต) เพื่อลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าลง และเพิ่มเส้นทางหมายเลข 12 เข้าไปเป็นเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ เพื่อให้คนและสิ่งของของทั้งสองประเทศสามารถเดินทางไปมาระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนา เพื่อให้ สปป. ลาวหลุดพ้นจากการเป็นประเทศพัฒนาน้อยที่สุดโดยเร็ว ไทยจะร่วมกับลาวจัดทำแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านการพัฒนา ไทย – ลาว และแผนแม่บทการพัฒนาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดนไทย – ลาว บนหลักการที่สองประเทศเห็นร่วมกันว่า ไม่ให้เขตแดนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระหว่างไทย – ลาว

นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้มอบเงินจากประชาชนชาวไทยเพิ่มเติมอีก 75 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวลาวที่ประสบเหตุอุทกภัยที่แขวงอัตตะปือในระยะฟื้นฟู โดยไทยจะช่วยก่อสร้างสะพานและที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ประสบภัย และให้ความช่วยเหลือในการพิสูจน์อัตลักษณ์ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ยังได้ส่งมอบอาคารตามโครงการพัฒนาวิทยาลัยพลศึกษา สปป. ลาวที่กระทรวงการต่างประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือกับฝ่ายลาวอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ/เอกสารต่างๆ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจร่วมกันถึง 7 ฉบับ บันทึกความเข้าใจและเอกสารข้างต้นล้วนแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่หน่วยงานของทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันเร่งรัดความร่วมมือต่าง ๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เช่น ด้านยุติธรรม กฎหมาย และการตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้กล่าวว่า ตนและคณะรัฐมนตรีไทยและลาวได้เห็นชอบร่วมกันในเรื่องที่เป็นประโยชน์ และมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองประเทศและเพื่อประโยชน์ต่อประชาชนของทั้งไทย และ สปป. ลาว เพื่อสานต่อสิ่งที่คนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ให้มั่นคงและเข็มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป

ในตอนท้ายนายกรัฐมนตรีขอบคุณนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี สปป. ลาวอีกครั้ง สำหรับความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมกันยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ลาว เข้าสู่ศักราชใหม่ของความเป็น “หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อความเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยไทยและลาวจะ “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ไปด้วยกัน

นี่เป็นความสัมพันธ์ในมิติใหม่ของสองชาติ ที่ไม่เคยเห็นมานานมาก การรประกาสเป็น“หุ้นส่วนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยและสปป.ลาว เชื่อว่า จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของสองประเทศทั้งระดับรัฐบาลและประชาชนต่อไปครับ