เปิดบันทึก”ภารกิจสุดหิน”ในอัตตะปือ สปป.ลาว

487

มูลนิธิร่วมกตัญญู เป็นอีกหน่วยกู้ภัย ที่เดินทางไปช่วยพี่น้องอัตตะปือ ล่าสุด ทีมมูลนิธิร่วมกตัญญู เดินทางกลับ ในช่วงสายๆ ของ วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 หลังจากสถานการณ์ในพื้นที่เริ่มดีขึ้น

โดยเพจ “นคร ศูนย์หนึ่งสาม” :เจ้าหน้าที่ทีมมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้บันทึกไว้ว่า วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 น้ำในพื้นที่ลดลงมาก ทางการของ สปป.ลาว เริ่มลงพื้นที่เข้าทำการเร่งฟื้นฟูความเสียหายทั้งบ้านเรือนและการเกษตร โดยเฉพาะทุ่งนา ที่กลายเป็นทะเลโคลน

ประชาชนเริ่มทยอยออกจากศูนย์พักพิงกลับมาที่บ้าน เพื่อทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้าน สีหน้า แววตา แม้กระทั่งรอยยิ้ม ของพี่น้องชาว สปป.ลาว ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ ก็ไม่สามารถปิดบังหัวใจที่เศร้าหมองของพวกเขาได้

พวกเราทำได้เพียง เฝ้าภาวนาขอให้ ทุกสิ่งทุกอย่างผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ขอให้ เมืองสหนามไซ กลับมาอุดมสมบูรณ์ และ เป็นเมืองที่อบอุ่น แห่ง สปป.ลาว โดยเร็ว

 

โดย ทีมร่วมกตัญญู เดินทางกลับ ในช่วงสายๆ ของ วันพุธที่ 1 สิงหาคม 2561 ระยะเวลากว่า 20 ชั่วโมงในการขับรถ จาก สปป.ลาว กลับสู่ มาตุภูมิ พวกเราไม่เหนื่อย ไม่ย่อท้อ ด้วยพลังและหัวใจแห่งความเป็นผู้ให้ ทำให้พวกเราทุกคน รู้สึกภาคภูมิใจเป็นที่สุด ที่เราได้มีโอกาส เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องชาว สปป.ลาว ในยามทุกข์ยาก

สำหรับ มูลนิธิร่วมกตัญญู เดินทางเข้าไปในแขวงอัตตะปือ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 ซึ่งนำโดย นายสมศักดิ์ ปาลวัฒน์ ผู้จัดการมูลนิธิร่วมกตัญญู และ นายเอกพันธ์ บันลือฤทธิ์ หัวหน้าอาสาสมัคร มูลนิธิร่วมกตัญญู นำทีมเจ้าหน้าที่ จำนวน 26 นาย

พร้อมรถบรรทุกสิ่งของอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค น้ำดื่ม เครื่องครัวประกอบอาหาร ถุงซิบห่อศพ จำนวน 200 ถุง ข้าวเหนียว 10 ตัน เพื่อนำไปมอบให้กับผู้ประสบภัยใน แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว

ส่วนภารกิจงานค้นหาและกู้ภัยทีมกู้ภัยร่วมกตัญญู ได้นำ เรือท้องแบน 4 ลำ เรือยาง 1 ลำ เจ๊ทสกี 2 ลำ มุ่งหน้าสู่ เมืองสนามไซ แขวงอัตตะปือ สปป.ลาว เพื่อลงพื้นที่ ร่วมช่วยเหลือและค้นหาผู้สูญหาย ผู้ประสบภัย ระยะทางกว่า 900 กิโลเมตร

โดยใช้เส้นทางผ่านด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เข้าปากเซ แขวงจำปาสัก จากปากเซ มุ่งหน้าเข้าแขวงอัตตะปือ โดยใช้เส้นทางเก่า เพราะเส้นทางใหม่สะพานถูกตัดขาด ไม่สามารถผ่านได้

ผ่านแขวงเซกอง เมืองท่าแตง ระยะทางจาก ด่านช่องเม็ก ถึง แขวงอัตตะปือ ทางประมาณ 240 กิโลเมตร

เช้าวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2561 เมื่อทีมเข้าถึงพื้นที่ แขวงอัตตะปือ ได้มอบสิ่งของอุปโภคบริโภค เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค น้ำดื่ม เครื่องครัวประกอบอาหาร ถุงซิบห่อศพ จำนวน 200 ถุง ข้าวเหนียว 10 ตัน ให้แก่ทางการของ สปป.ลาว เป็นที่เรียบร้อย

จากนั้นได้เข้าพักที่ ภัตคารคุณประเสริฐ ก่อนลงพื้นที่ทำงานด้านการค้นหา และกู้ภัยในวันรุ่งขึ้น

เช้าตรู่ วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2561 ออกเดินทางจากที่พักเพื่อเข้ารายงานตัวกับ พันเอกวันทอง บุตรวงค์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 5 ผู้บัญชาการสนาม สปป.ลาว พร้อม พี่น้องกู้ภัยทั้งชาวไทย และ ชาวต่างชาติ

งานถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ การล่องเรือ และ การเดินเท้า ค้นหาผู้สูญหายและผู้ประสบภัย ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของทีมกู้ภัยและทหารคือ สายน้ำ สายฝน และ โคลน การล่องเรือในแม่น้ำเซเปียน เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย การล่องเรือบางช่วงค่อนข้างอันตราย เพราะสายน้ำของแม่น้ำเซเปียน ไหลเชี่ยวรุนแรงมาก

คนขับเรือต้องมีความชำนาญในการบังคับเรือและการดูร่องน้ำ หากพลาดพลั้งนั้นหมายถึงอันตรายของทุกคนในทีม

ส่วนการเดินเท้าลุยโคลนสูง เพื่อค้นหาผู้สูญหาย แม้เป็นการทำงานบนบก ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องง่าย ทุกก้าวที่ทีมค้นหาก้าวออกไป อาจพาร่างกายอันกำยำจมโคลนได้แทบทุกฝีก้าว

ดังนั้นก็ต้องมีเทคนิคในการปฏิบัติจนเกิดภาพการ “คลานโคลน” ของทีมกู้ภัย ที่ถูกเผยแพร่ จนเป็นที่ชื่นชมของชาวโลก ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเราทีมกู้ภัยใช้ และ+ทันทีที่มีฝนตกหนัก ทีมค้นหาทุกทีมต้องหยุดการปฏิบัติการ เพื่อความปลอดภัย

การเดินทางเข้าพื้นที่ประสบภัยในแต่ละวัน ทีมกู้ภัยต้องวิ่งรถเข้าออกวันละไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง เส้นทางเป็นหินบ้าง เป็นโคลนบ้าง บางช่วงเป็นทางลาดชัน สำคัญบางจุดมีน้ำท่วมสูง มองไม่เห็นทาง บางจุดสายน้ำไหลเชี่ยวกราด รถก็ต้องวิ่งฝ่าสายน้ำเพื่อให้ผ่านจุดนั้นไปให้ได้

คนขับรถต้องใจเย็น มีสติ และรอบครอบ สำคัญที่สุดในการทำงานกู้ภัย คือ ความปลอดภัยของตัวเอง ความปลอดภัยของทีม และ ความปลอดภัยของผู้ประสบภัย

อาหารการกินของทีมกู้ภัย เรากินข้าวเหนียวกันแทบทุกมื้อ น้ำพริกบ้าง ไก่ทอดบ้าง หมูทอดบ้าง ส่วนมากเป็นของแห้ง กินง่าย สะดวกในการพกพา น้ำเปล่าคนละ 1 ขวด ทุกต้องมี

 

ตลอดระยะเวลาการลงพื้นที่ค้นหาผู้สูญหาย และ ผู้ประสบภัย ทีมกู้ภัย ทุกทีมต้อง “จมูกดี” และ แยกแยะกลิ่นให้ออกว่าเป็น กลิ่น คน หรือ สัตว์ หากไม่แน่ใจก็ต้องเดินลุยโคลน หรือ คลานโคลน ตรวจหาจนพบกลิ่นต้องสงสัย

ส่วนมากที่เราพบคือ หมู ตัวพองใหญ่ กลิ่นอบอวลมากทีเดียว บ้านหลังไหนที่ ทีมกู้ภัยเข้าสำรวจแล้ว พวกเราจะทำสัญลักษณ์ โดยการใช้สีสเปรย์สีแดง พ่นตัว C หมายความว่า “เคลีย” พื้นที่ตรงนั้น
นั่นเป็นความยากลำบากในการปฏิบัติงานที่ต้องระมัดระวังทุกฝีเก้า

และหลังจากนั้น เมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา ทีมอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูอีกชุดที่นำโดย
“บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ได้ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยดินโคลนถล่ม ที่บ้านห้วยขาบ ต.ดงพญา อ.บ่อเกลือ จ.น่านด้วย

นั่นเป็นอีกหน่วยกู้ภัย ที่สร้างชื่อให้ประเทศไทย ในการช่วยเหลือพี่น้องอัตตะปือ และยังกลับมาช่วยเหลือพี่น้องคนไทย ที่จังหวัดน่านอีก อย่างไม่รู้จักเหน็ดรู้จักเหนื่อ

ก็ต้องนับถือในหัวใจ ความเสียสละของอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ในภารกิจสำคัญนี้ครับ