“มาเลเซีย”เคยเป็นฐานการลงทุนที่สำคัญของญี่ปุ่น แต่ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมานักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนน้อยลง เนื่องจาก”จีน” เบียดตัดหน้า ด้วยการทุ่มไม่อั้น จนสามารถซื้อใจ “รัฐบาลนาจิบ”ได้แบบสุดๆ
โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า การกลับสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ “มหาเธร์ โมฮัมหมัด” หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 14 เมื่อเดือนที่แล้วได้ฟื้นฟูความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในตลาดมาเลเซีย
ในขณะที่ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย นายมากิโอะ มิยากาวา (Makio Miyagawa) กล่าวกับ สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียว่า อุตสาหกรรมญี่ปุ่นได้ลังเลในการลงทุนในมาเลเซียในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากความเสี่ยงในสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ การกลับมาของ”มหาเธร์ โมฮัมหมัด ตนเองมั่นใจว่าอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นยินดีอย่างยิ่งที่จะคิดในมุมบวกในการมีมีส่วนร่วมกับมาเลเซีย
ทูต”มิยากาวา” ยังบอกด้วยว่า การที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียคนใหม่ ประกาศว่า เตรียมพร้อมจะรักษาบ้านโดยการชำระหนี้ของตน ทางญี่ปุ่นก็กระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐบาลใหม่ของมาเลเซีย
ไม่เพียงเท่านั้น ทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย บอกด้วยว่านายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกำลังรอคอยการพบกับ”มหาเธร์” ในระหว่างการเยือนกรุงโตเกียว เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติครั้งที่ 24 เรื่องอนาคตของเอเชียในระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายนนี้
นายมากิโอะ มิยากาวา (Makio Miyagawa) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย กับ นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด
ซึ่งทั้งสองฝ่ายกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการเยือนญี่ปุ่นครั้งแรกของ “มหาเธร์” ตั้งแต่เข้ารับสาบานตนเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว
ทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย ยังได้ย้อน“นโยบายมุ่งบูรพา” หรือ ” Look East Policy ของมาเลเซีย ที่ริเริ่ม “มหาเธร์ โมฮัมหมัด” ในช่วง พ. ศ. 2524-2546 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ทวิภาคีมาเลเซีย – ญี่ปุ่น
สำหรับนโยบายนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนรู้จากประสบการณ์ความสำเร็จของญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศ โดยภายใต้นโยบายนี้ มาเลเซียได้มีความร่วมมือกับญี่ปุ่นที่เน้นด้านการศึกษาและการฝึกอบรม โดยการส่งนักศึกษามาเลเซียไปศึกษาในมหาวิทยาลัยและสถาบันเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และส่งบุคลากรมาเลเซียไปฝึกอบรมในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น
ซึ่ง”มหาเธร์ ” เอง หวังจะฟื้นฟูนโยบาย“นโยบายมุ่งบูรพา” หรือ ” Look East Policy”นี้
ที่มา: https://umlib.um.edu.my/newscut_details.asp?cutid=6075
ทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย กล่าวด้วยว่า นายชินโซ อาเบะ และรัฐบาลญี่ปุ่นมุ่งหวังที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศรวมทั้งด้านการค้าและการลงทุน พร้อมระบุด้วยว่า ด้วยแนวโน้มในเชิงบวกในปัจจุบันญี่ปุ่นหวังว่าความร่วมมือกับมาเลเซียจะช่วยขยายการจ้างงานและยกระดับเทคโนโลยีของมาเลเซีย
นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
นาย มากิโอะ มิยากาวา กล่าวอีกว่า การตัดสินใจของ “มหาเธร์” ในการล้มโครงการรถไฟความเร็วสูงกัวลาลัมเปอร์-สิงคโปร์ ( Kuala Lumpur – Singapore (HSR)) ซึ่งญี่ปุ่น หวังจะได้โครงการนี้อย่างจริงจัง แต่ยินดีที่จะรอเวลา เมื่อมาเลเซียพร้อมในอนาคต
ทูตญี่ปุ่นประจำมาเลเซีย ยังได้แสดงความเข้าใจด้วยว่า ด้วยหนี้สะสมที่มีขนาดใหญ่มาก ตนคิดว่า ลำดับความสำคัญของมาเลเซียในตอนนี้ จะอยู่ในระยะ “การรักษาบ้าน” และเมื่อมาเลเซียพร้อมแล้วก็ยินดีที่จะมีส่วนร่วมกับมาเลเซียอีกครั้งหนึ่ง
พร้อมมั่นใจว่า เมื่อใดก็ตามที่ถึงเวลานั้นข้อเสนอของญี่ปุ่นจะพิจารณาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมที่เป็นประโยชน์ ให้กับอุตสาหกรรมมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่อไป
จากท่าทีของญี่ปุ่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นพร้อมที่จะกลับเข้าไปสู่การลงทุนในมาเลเซีย เพื่อยึดผลประโยชน์การลงทุนใหญ่ในภูมิภาคนี้กลับคืนมาและดูเหมือนว่า ท่าทีของมาเลเซีย จะตอบรับในเรื่องนี้ด้วย
ประเด็นที่น่าจับตาคือ “จีน”จะทำอย่างไร จากความเสียหาย ที่คาดว่าจะตามมาอย่างมาก ทั้งในเชิงการลงทุนและยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะแผนการขยายอิทธิพลผ่านนโยบาย 1 แถบ 1 เส้นทางหรือ One Belt One Road และเงินทุนที่ลงทุนไปอย่างมหาศาลแล้วในมาเลเซีย
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน
จึงเชื่อว่า ต่อจากนี้ ฉาก “สงครามเศรษฐกิจบนคาบสมุทรมาลายา” คงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้
และต้องจับตาว่า “ไทย” จะใช้ประโยชน์ และได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้อย่างไร ด้วย