เคาะรถไฟฟ้าเชียงใหม่”ล้อยาง”เหมาะสุด

223

 

ไปติดตาม โครงการรถไฟฟ้าของเชียงใหม่กันบ้าง ล่าสุด รฟม. จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม เส้นทาง โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี พบ ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง เหมาะสมสุด เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

31 ตุลาคม 2565 เวลา 09.00 น. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ โดยมีผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ สถาบันการศึกษา และผู้สนใจ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมการประชุมกว่า 230 คน ณ ห้องแกรนด์วิว 3 โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ ที่มีแนวเส้นทางรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินและระดับดินนั้น มีมูลค่าการลงทุนสูง ส่งผลให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา CMTR ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ และนำมาสู่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้

การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการดำเนินงาน โครงการที่เหมาะสมจำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย 2) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง และ 3) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทางโดยเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองเชียงใหม่ ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า รูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ คือ ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโครงการ บรรเทาผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการในระยะก่อสร้าง รวมถึงใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถไฟฟ้าระบบอื่นๆ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา CMTR จะนำความคิดเห็นต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงาน ดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันนี้ไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป

รฟม. จัดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม โครงการรถไฟฟ้าของเชียงใหม่ เส้นทาง โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ ได้อีกด้วย
ครับการลงทุนรถไฟฟ้าในเมืองเชียงใหม่ เป้าหมายใหญ่สุดคือ แก้ปัญหาความแออัดของการจราจร ที่กำลังมีปัญหามากขึ้นตามลำดับ แต่หาก ใช้ระบบรถไฟฟ้าล้อยาง ที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ก็จะยิ่งไปแย่งถนนกับรถยนต์ที่มีปัญหาหนักอยู่แล้วโดยเฉพาะในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ก็จะยิ่งก่อปัญหาหนักขึ้นไปอีกหรือไม่