“อองหล่าย”ขอบคุณนายกฯฮุนเซน นำสันติภาพมาสู่เมียนมา

359

 

ไปที่เมียนมากันต่อ ผลการประชุมร่วมกันที่ กรุงเนปิดอว์  มิน ออง หล่าย แสดงความขอบคุณ นายกฯฮุน เซน สำหรับความพยายามนำสันติภาพมาสู่เมียนมาพร้อมตกลงกระจายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพในประเทศ และจะขยายการหยุดยิงกับกองกำลังชาติพันธุ์ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

8 ม.ค.65 สำนักข่าว burmese.dvb รายงานว่า ในการประชุมเมียนมาร์-กัมพูชาที่กรุงเนปิดอว์เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้นำรัฐประหาร ได้กล่าวขอบคุณ นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา สำหรับการสนับสนุนเชิงบวกของกัมพูชา และ สำหรับความพยายามที่จะนำสันติภาพมาสู่เมียนมา และเรียกปีนี้ว่าปีแห่งสันติภาพ

ด้าน สำนักข่าว cambodianess รายงานว่า แถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมของทั้งสองฝ่าย ระบุว่า ในการประชุม ฮุน เซน และมิน ออง หล่าย กล่าวถึง ความพยายามในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนชาวเมียนมา ผู้นำทั้งสองได้สนับสนุนให้มีการประชุมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ทูตพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยเมียนมาร์ เลขาธิการอาเซียน ผู้แทนศูนย์ช่วยเหลือและจัดการภัยพิบัติด้านมนุษยธรรมอาเซียน (AHA Center) และคณะทำงานเฉพาะกิจแห่งชาติเมียนมาร์เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ AHA สภากาชาดเมียนมาร์ (MRCS) และ หน่วยงานเฉพาะทางแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ มิน ออง หล่าย บอกกับนายกฯฮุน เซนว่า การหยุดยิงห้าเดือนกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ (EAO) ทั้งหมด ซึ่งจะหมดอายุในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ได้ขยายเวลาออกไปจนถึงสิ้นปีนี้

ด้านนายกฯฮุน เซน แสดงการสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการตัดสินใจของรัฐบาลเผด็จการ โดยกล่าวว่าเป็นการลดความตึงเครียดและเปิดการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนและการพัฒนาประเทศ

 

กรุงเนปิดอว์  มิน ออง หล่าย แสดงความขอบคุณ นายกฯฮุน เซน สำหรับความพยายามนำสันติภาพมาสู่เมียนมา/cr.:Samdech Hun Sen

 

นายกฮุนเซน ได้เดินทางถึงกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา ในการเยือนอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วันเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม กลายเป็นผู้นำต่างชาติคนแรกที่พบกับผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมาร์นับตั้งแต่รัฐประหาร 1 กุมภาพันธ์ ท่ามกลางเสียงคัดคัดต้านจากชาวเมียนมา และผู้สังเกตุการณ์ระหว่างประเทศหลายกลุ่ม

แต่นายกฮุนเซน กล่าวว่าจุดประสงค์หลักของเขาคือเพื่อเริ่มต้นสันติภาพ ในขณะเดียวกันก็ย้ำว่าจะไม่ไปไกลกว่าฉันทามติ 5 ประเด็นที่อาเซียนตกลงกันในกรุงจาการ์ตาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

นอกจากนี้ ก่อนการเดินทางของฮุน เซนไปยังเมียนมาร์ หนึ่งวัน อู โบ หล้า ทินท์ (U Bo Hla Tint) ทูตประจำอาเซียนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา หรือ NUG ที่เป็นรัฐบาลพลัดถิ่น ได้แสดงความกังวลและความคับข้องใจ โดยกล่าวว่าฮุนเซนกำลังดำเนินการด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาผู้นำกลุ่มอื่น

ครับ ปัญหาในเมียนมามีความละเอียดอ่อน ทั้งต่อความสัมพันธ์ภายในของชาวเมียนมา และ ต่อสายตาชาวโลก การเดินทางไปเยือนเมียนมา ของสมเด็จฮุน เซน ก็ลุล่วง แต่ก็เป็นการผูกปมเชือกใหม่ เสมือนกับรับรองอำนาจของรัฐบาลอองหล่าย แทนที่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั่นคือ การรัฐประหาร ของมินอองหล่าย

ก็ต้องดูกันว่า หลังจากนี้ หากมีปัญหาตามมา นายกฯฮุนเซน และประเทศอาเซียน จะแก้ปมเชือกนี้ กันอย่างไร ครับ