ไปติดตามสถานการณ์การสู้รบระหว่างทหารพม่ากับกะเหรี่ยง KNU กันต่อ ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงของไทย จะเป็นตัวกลางติดต่อไปยัง KNU เพื่อขอให้มีการเจรจากับกองทัพพม่า เนื่องจากกองทัพพม่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ด้าน KNU ชี้กองทัพพม่า ไม่สามารถเชื่อถือได้ หากจะมีการเจรจา ต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
สำนักข่าวชายขอบรายงานเมื่อ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2564ว่า แหล่งข่าวด้านความมั่นคงชายแดนไทยในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยถึงสถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union- KNU)บริเวณตอนใต้ของเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่าซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับอำเภอแม่สอด ทำให้มีผู้อพยพหลายพันคนข้ามแม่น้ำเมยมาหลบภัยในฝั่งไทย
โดยระบุว่า ล่าสุดได้มีการประสานงานจากฝ่ายความมั่นคงของไทยเป็นตัวกลางติดต่อไปยังพลเอกมูตู เส่โพ ประธาน KNU เพื่อขอให้มีการเจรจากับกองทัพพม่า เนื่องจากขณะนี้กองทัพพม่าได้รับความเสียหายอย่างหนัก ขณะที่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากการสู้รบรุนแรงขึ้นตามลำดับ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ท่าทีของพลเอกมูตู เส่โพ นั้นเห็นด้วยการตั้งโต๊ะเจรจามาตั้งแต่เริ่มต้นที่ทหารพม่าเปิดการรบกับทหารกะเหรี่ยง KNU กองพล 6 แต่เนื่องจาก พลเอกมูตู ไม่สามารถสั่งการไปยังหน่วยปฏิบัติได้ ดังนั้นการสู้รบจึงยืดเยื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคมจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีชาวกะเหรี่ยงและชาวพม่านับหมื่นคนต้องหนีออกจากบ้านมาหลบซ่อนและข้ามมาประเทศไทย
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า ยังไม่แน่ว่าทหารกะเหรี่ยงกองพล 6 จะยอมเจรจาด้วยหรือไม่ เพราะกองทัพพม่าเป็นผู้ที่บุกโจมตีเขาก่อน แต่ตอนนี้ทหารพม่าเองก็เสียหายหนักและมีทหารเสียชีวิตนับร้อยคน ทำให้เขาเริ่มเห็นด้วยกับการเจรจา ซึ่งคงไปคุยกันที่กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า
และว่า ความต้องการของกองทัพพม่าคืออยากให้ KNU กองพล 6 กลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพ (Nationwide Ceasefire Agreement-NCA) เนื่องจากก่อนหน้าเกิดรัฐประหาร กองพล 6 และกองพล 7 ของ KNU อยู่ในกระบวนการ NCA แต่เมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทั้ง 2 กองพลได้ออกจากกระบวนการเจรจาดังกล่าว
พะโด่ซอตอนี (Padoh Saw Taw Nee) ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ KNU
ด้านพะโด่ซอตอนี (Padoh Saw Taw Nee) ผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ KNU กล่าวว่าขณะนี้ผลกระทบจากการสู้รบเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ แต่ตนยังไม่ได้ยินว่าทางการไทยจะขอให้มีการเจรจา แต่การอพยพของประชาชนที่หนีภัยการสู้รบนั้น มีความเป็นห่วงจากหลายฝ่าย และที่ผ่านมาหลายกลุ่มขอให้มีการเจรจาเพื่อยุติการสู้รบ แต่จากประสบการณ์ของ KNU ในการเจรจากับทหารพม่านั้น พบว่ากองทัพพม่า ไม่สามารถเชื่อถือได้ หากจะมีการเจรจาจริงต้องมีหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานระหว่างประเทศ เพื่อให้มีการเจรจาเป็นไปอย่างยุติธรรม
พะโด่ซอตอนี ย้ำด้วยว่า ที่ผ่านมาเจรจากันไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ แต่ก็ไม่เกิดผลใดๆ สุดท้ายทหารพม่าก็ก่อรัฐประหารในประเทศของตัวเอง สิ่งที่เราต้องการคือสันติภาพ สิ่งแรกคือทหารพม่าต้องถอนกองกำลังออกจากพื้นที่สู้รบทั้งหมดในทันที และต้องยุติการเข่นฆ่าทำร้ายประชาชน การกระทำที่ใช้อาวุธ ทิ้งระเบิดโดยเครื่องบิน ต้องยุติทั้งหมด หากยุติสิ่งเหล่านี้ได้ การเจรจาอาจเป็นขั้นต่อไปได้
การรบราฆ่าฟันนั้นเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง หากมีการเจรจากันได้ เป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่ปัญหาอยู่ว่า การเจรจามักจะเกิดขึ้น ตอนฝ่ายกองทัพพม่า เสียเปรียบ แต่เมื่อได้เปรียบกลับมาถล่มใหม่ ดังนั้นโจทย์จึงอยู่ที่ว่า หากมีการเจรจากันอีก ต้องไม่ใช่แค่เจรจาให้จบกันไป แต่ต้องมีหลักประกันที่แน่นอนว่า เหตุการณ์จะไม่เกิดซ้ำรอยอีก