มาติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ กันบ้าง ล่าสุดมัการสัมมนาครั้งที่ 3 งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างโครงการ ซึ่งความน่าสนใจของโครงนี้ นอกจากจะมีอุโมงค์ที่ยาวรวมกันถึง 29.7 กิโลเมตร ซึ่งยาวสุดในประเทศไทยแล้ว ก็ยังเชื่อมโยง เวียดนาม ลาว ไทย เมียนมา เข้าด้วยกัน ตามแผนคาดว่าโครงการนี้ จะเปิดประมูลปี 2566 และเปิดบริการปี 2571 หรือ ปี 2572 เรื่องน่าสนใจไปตามกันครับ
สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ ที่จะเชื่อมโยง ฝั่งตะวันออกและตกของไทย หรือ อีสต์-เวสต์ คอริดอร์ ซึ่งมี 3 เส้นทาง คือ เส้นทาง แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ อยู่ระหว่างการเตรียมการ และนครสวรรค์-บ้านไผ่ ที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม
ส่วนช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม รฟท. เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ หรือ บอร์ด การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้พิจารณาอนุมัติสั่งจ้างผู้ชนะการประกวดราคา(ประมูล) และ เมื่อวันที่15กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษาประกาศ พระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.) เวนคืน ที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง แล้ว
หากก่อสร้างครบทั้ง3เส้นทางจะช่วย เชื่อมการเดินทางของเวียดนาม ลาว ไทย เมียนมา ให้คึกคักขึ้น
โดยเรื่องนี้ เมื่อ 6 ต.ค. 64 ที่ศาลากลางจังหวัดตาก นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก รักษาการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาสรุปผลการศึกษา (สัมมนาครั้งที่ 3) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ โดยมี ผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบ Zoom conference
โครงการนี้ มีแนวเส้นทางรถไฟแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก มี 24 สถานี ระยะทาง 186.77 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด มี 5 สถานี ระยะทาง 68.15 กิโลเมตร
สำหรับการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการนำเสนอผลการศึกษาโครงการด้านวิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องในระดับจังหวัดและท้องถิ่นในจังหวัดตามแนวเส้นทางได้แสดงความคิดเห็น เพื่อนำมาประกอบการดำเนินการออกแบบรายละเอียดในขั้นตอนต่อไป
จากข้อมูลของเวบไซต์ฐานเศษฐกิจ ก่อนหน้านี้ ระบุว่า โครงการรถไฟทางคู่ แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ ระยะทาง 254 กิโลเมตร ก่อสร้างเวนคืนเปิดหน้าดินใหม่ทั้งหมด แยกเป็นงบประมาณเวนคืน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ค่าก่อสร้าง 8.1- 8.3 หมื่นล้านบาท
โดยคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย(บอร์ดรฟท.) ได้อนุมัติให้จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้าง และคาดว่าจะแล้วเสร็จ พฤศจิกายน 2565 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอโครงการให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติปลายปี 2565 เปิดประมูลปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บริการอย่างเร็วปี 2571อย่างช้า ปี 2572
สำหรับระยะทางรวมประมาณ 254 กิโลเมตร มีรูปแบบเส้นทางคือ 1. ทางวิ่งระดับดิน 193 กิโลเมตร 2. ทางวิ่งยกระดับ 31.5 กิโลเมตร 3. อุโมงค์ 29.7 กิโลเมตร
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ คือ ช่วงที่ 2 ตาก-แม่สอด ช่วงนี้จะผ่านเขา ตัดผ่านป่า และเป็นอุโมงค์ลอดเขา ถึง 4 ช่วงเพื่อแก้ปัญหาความชัน และก่อสร้างในเขตอุทยานเริ่มต้นจากสถานีตาก เข้าอุโมงค์ดอยรวก ระยะทาง 15.52 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่สถานีด่านแม่ละเมา จากนั้นจะเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 1 ระยะทาง 1.42 กิโลเมตร และเข้าสู่อุโมงค์แม่ละเมา 2 ระยะทาง 0.775 กิโลเมตร เข้าสู่อุโมงค์ ดอยพะวอ ระยะทาง 12 กิโลเมตร แล้วเข้าสู่พื้นที่ราบ อำเภอแม่สอด เข้าสถานีแม่ปะ แล้วเลี้ยวซ้ายตัดกับทางหลวง 130 (เลี่ยงเมืองแม่สอด ไปด่านแม่สอด 2) วิ่งเข้าสู่สถานีแม่สอด มุ่งหน้าสู่สถานีด่านแม่สอด ซึ่งเป็นลานคอนเทนเนอร์ (CY)
ซึ่งอุโมงค์ที่ยาวรวมกันถึง 29.7 กิโลเมตรนี้ จะเป็นอุโมงค์ที่ยาวสุดในประเทศไทย
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ช่วงแม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์ (Detailed Design) นี้ นอกจากจะแก้ปัญหาอุบัติเหตุในช่วง ตาก-แม่สอด ที่เป็นปัญหามาโดยตลอดด้วยแล้ว
จะยังทำให้แผนการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายใหม่เชื่อมตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor Upper) จากแม่สอด-นครพนมมีโครงข่ายที่สมบูรณ์ ซึ่งจะเพิ่มบทบาทของไทยในการเชื่อมโยงเส้นทางจากเวียดนาม มาลาว เข้าไทย และออกไปสู่เมียนมา หรือ อนาคตจะเชื่อมต่อไปยังอินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ต่อไป