ส่อเป็นจริง!ญี่ปุ่นลุยศึกษา”ชินคันเซ็น” กรุงเทพฯ–เชียงใหม่

360

 

มาติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กันบ้าง ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง เผย ได้การประชุมทางไกลโดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ระบุ ทางญี่ปุ่น ยันจะเดินหน้าแผนการศึกษาในเดือนตุลาคม 2564 และจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565 พร้อมระบุ จะถอดแบบการพัฒนาในภูมิภาครอบสถานี แบบสถานีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

4 ต.ค. 64 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้แทนการรถไฟแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยว (Railway Bureau Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT)) / สำนักงานก่อสร้างทางรถไฟ, ขนส่ง และเทคโนโลยีแห่งญี่ปุ่น (Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency) หรือย่อว่า “เจอาร์ทีที” (JRTT) และ สถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย

 

 

โดยประเด็นการหารือ ประกอบด้วย 3 เรื่อง ได้แก่
1.) ผลการดำเนินงานการประมาณการความต้องการเดินทาง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ดำเนินการศึกษาโดยอ้างอิงข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทย แบบสำรวจความต้องการเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง และข้อมูลปริมาณการความต้องการเดินทางในการศึกษาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่
2.) การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการพัฒนาจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร (Station Plaza) และการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ (Feeder) ระหว่างประชาชนสู่ระบบรถไฟความเร็วสูงที่จะนำมาซื่งการพัฒนาพื้นที่ให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้นของสถานีลพบุรี โดยจะใช้การออกแบบจากสถานีรถไฟชินคันเซ็น (Shinkansen) ในประเทศญี่ปุ่น
3.) การพัฒนาภูมิภาครอบสถานีรถไฟความเร็วสูงชินคันเซ็น ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่สถานีชิจิโนเฮะ – โทวาดะ ซึ่งเป็นสถานีที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน โดยบริเวณสถานีมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ลานจอดรถ ฯลฯ นำมาซึ่งการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

 

พร้อมนี้ฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอแผนการศึกษาในปี 2564 (2021) โดยจะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคม 2564 และจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2565

ทั้งนี้ทางกรมการขนส่งทางรางได้ขอคำแนะนำทางฝ่ายญี่ปุ่นในการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งมรดกโลก อย่างเช่น บริเวณสถานีเกียวโต ซึ่งมีพื้นที่ใกล้เคียงกับวัดโทจิ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี 2537

สำหรับ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ – เชียงใหม่นี้ แบ่งเป็น 2 ระยะได้แก่ กรุงเทพ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กิโลเมตร และ พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง: 288 กิโลเมตร ระยะทางรวม 668 กม. รูปแบบการลงทุน เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นมูลค่าการลงทุนรวม: 445,303 ล้านบาท

โดยเป็นรถไฟที่สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 300 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทางทั้งหมดประมาณ 3.16 ชั่วโมง

ตามแผนก่อนหน้านี้ ช่วง กรุงเทพ – พิษณุโลกจะเปิดใช้งาน: พ.ศ. 2572 และช่วง พิษณุโลก – เชียงใหม่ จะเปิด ปี พ.ศ. 2575

 

ครับจริงๆแล้ว ญี่ปุ่น สนใจ โครงการรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ – เชียงใหม่ มาก แต่ที่ผ่านมา ติดในเรื่องค่าก่อสร้างที่สูง และผลตอบแทนที่ไม่คุ้มทุน

แต่เมื่อ ไทยมีการยืดหยุ่น และเปิดทางสิทธิประโยชน์อื่นๆมากขึ้น ทำให้ญี่ปุ่น แสดงท่าทีเอาจริงเอาจังมากขึ้น เชื่อว่า หลังจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นสูง ที่จะเดินหน้าโครงการนี้อย่างจริงจัง

และหากฝ่ายไทย จริงจัง จริงใจมากกว่านี้ ทุกอย่างเดินหน้าได้และลงตัว รถไฟชินคันเซ็น สุดยอดแห่งเทคโนโลยีความความปลอดภัยทางราง คงจะปรากฏกายขึ้นในประเทศไทย เป็นแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีเพียงไม่กี่แห่งในโลกนี้ในอีกไม่ช้าไม่นานครับ