การรถไฟฯลุยพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ คาด 10 ปี รับ 1.2 แสนล.

422

 

มาติดตามข่าวคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟ ล่าสุดมีรายงานว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เตรียมลงนามการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นผู้ทำหน้าที่หลักในการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเล็งพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่ คาดว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทน 10 ปี 1.2 แสนล้านบาท ด้าน รมว.คมนาคม สั่งเน้นพื้นที่ ธนบุรี-ศูนย์การแพทย์จตุจักร และพระราม 9 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

25 สิงหาคม 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมมอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ Application “Zoom” โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม เข้าร่วม

ทั้งนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการที่เกี่ยวกับบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. ให้ที่ประชุมทราบ ว่า บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และการรถไฟแห่งประเทศไทยเตรียมทำความตกลง โดยลงนามในบันทึกข้อตกลงหลักหรือธรรมนูญใหญ่ที่ใช้ในการดำเนินงานระหว่างกัน หรือที่เรียกว่า “Master Agreement” ในเร็วๆ นี้

โดยในข้อตกลงดังกล่าวจะมีการระบุให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เป็นผู้ทำหน้าที่หลักในการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหมายความรวมถึงการให้สิทธิในการบริหารอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยที่ดินดังกล่าวมีมูลค่ามหาศาลและมีศักยภาพสูงมาก ซึ่งการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดำเนินการโดย บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะมีการใช้วิธีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารใหม่ ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ในยุคโลกาภิวัตน์

นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการรถไฟฯ และรักษาการกรรมการผู้จัดการ/คณะกรรมการบริหาร บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จึงได้มีการดำเนินการเตรียมความพร้อม และการวางแผนการดำเนินงานให้แล้วเสร็จไปในหลายเรื่องๆ แล้วอย่างเป็นระบบ ภายในระยะเวลาอันสั้น

เช่น ในด้านกระบวนการทางกฎหมายได้มีการขอยกเว้นพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนในด้านการบริหารจัดการและทางด้านธุรกิจ ได้มีการวางแผนในการกำหนดการมอบสิทธิในการบริหารที่ดิน เพื่อให้บริษัทเอสอาร์ที แอสเสท จำกัด เตรียมความพร้อมในการรับมอบสิทธิการบริการที่ดิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ทางบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด ยังได้มีการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารโครงการใหญ่ๆ โดยมีดำเนินการในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งไม่ได้ดำเนินการในรูปแบบการให้เช่าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

 

ทั้งนี้ การดำเนินการในการบริหารสิทธิในที่ดินต่างๆ คาดว่าจะถูกทำให้เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนได้ภายในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางการเงิน คาดว่าบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ โดยมีมูลค่าสูงถึง 125,175.44 ล้านบาท ภายในระยะเวลาเพียง 10 ปี

ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายแก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เร่งดำเนินการเพิ่มเติม โดยมีข้อสั่งการ ดังนี้
1.เนื่องจากยังมีพื้นที่แปลงใหญ่ที่มีศักยภาพ เช่น พื้นที่บริเวณถนนพระราม 9 จากแยกคลองตัน และถนนรัชดาภิเษก จึงควรนำไปพิจารณาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ ให้เร่งนำพื้นที่แปลงขนาดกลางและขนาดเล็กมาเร่งพัฒนาให้เกิดรายได้ก่อน

2.เปรียบเทียบบริษัทลูก ของบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กับบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด เพิ่มเติม เพื่อสร้างความคล่องตัวและเสริมศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งนี้ ให้ความสำคัญกับหลักธรรมาภิบาล
3.ให้ความสำคัญกับการสรรหาผู้บริหาร รวมทั้งรายละเอียดของเงื่อนไขการจ้างให้มีความเป็นธรรม ตามหลักธรรมาภิบาล
4.สถานีธนบุรี มีความสำคัญอยู่ติดกับโรงพยาบาลศิริราช มีระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อถึง 3 สาย สามารถใช้เป็นต้นแบบการพัฒนาแบบ TOD (คือ การพัฒนาที่เน้นระบบขนส่งมวลชน โดยออกแบบพื้นที่รอบสถานีให้ผสมผสานระหว่างศูนย์พานิชยกรรม ร้านค้า ที่พักอาศัย แหล่งงาน เป็นต้น) ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม

ดังนั้น ให้บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาแบบรอบด้าน และสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเข้ามาบูรณาการความร่วมมือด้วย

5.ให้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท เข้าไปพิจารณาความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่แปลงศูนย์การแพทย์บริเวณสวนจตุจักรด้วย

สำหรับที่ดินทรัพย์สิน ของการรถไฟฯ ทั่วประเทศ มีจำนวน 234,976 ไร่ หากนำมาพัฒนาอย่างจริงจัง นอกจากจะได้เงินมาแก้ปัญหาการขาดทุน และพัฒนาระบบรถไฟให้ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการพัฒนาบ้านเมืองในเจริญขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการตั้งบริษัทลูกเข้ามาจัดการ จะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคจากปัญหาของระบบราชการ อีกด้วย

แต่อย่างไรต้องอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส่ และผลประโยชน์ของประเทศชาติโดยรวมด้วยครับ