มาติดตามสถานการณ์ในพม่า หลังจากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่จาร์กาต้า ล่าสุด เจ้ายอดศึก ได้ประชุม 10 แกนนำกองกำลังชาติพันธุ์ ย้ำ ผู้นำรัฐบาลทหารจะต้องรับผิดชอบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์กว่า 700 คนที่ถูกสังหาร ยันพร้อมร่วมมืออาเซียน ในการเข้าถึงประเทศ และพบปะกับองค์กรที่เกี่ยวข้องซึ่งประเด็นการที่จะให้ความร่วมมือกับอาเซียนนี้ คาดว่า หลังจากนี้ เจ้ายอดศึก จะเป็น 1 ในผู้มีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤติพม่าในครั้งนี้ ส่วนจะเป็นอย่างไรมาดูกันครับ
มีรายงานจาก Burma Associated Press ว่า ช่วงเช้า 26 เมษายน 2564 คณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ได้จัดการประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อติดตามสถานการณ์ปัจจุบันในพม่า โดยมี พลเอกยอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) และรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) พร้อมแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์อีก 9 กลุ่ม ร่วมหารือ
โดยพลเอกยอดศึก กล่าวว่า ผู้นำรัฐบาลทหารจะต้องรับผิดชอบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์กว่า 700 คนที่ถูกสังหาร โดยรัฐบาลทหารในช่วงการการเคลื่อนไหวปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิของประชาชน
พลเอกยอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน (Restoration Council of Shan State-RCSS) และรักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST)/Cr. Photo: Burma Associated Press
พร้อมระบุว่า ข้อตกลงพิเศษของการประชุมสุดยอดอาเซียนสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ทางคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) จะให้ความร่วมมือในการเข้าถึงประเทศ และพบปะกับองค์กรที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการประชุมคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เริ่มตั้งแต่เช้า 26 เมษายน และ การประชุมจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 27 เมษายนนี้
กลุ่มที่รวมตัวกันในนามคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ(PPST : Peace Process Steering Team)นี้ เป็นกองกำลังชาติพันธุ์ ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดหยุดทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลพม่า ไปแล้ว ประกอบด้วยกองกำลังของ 10 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่
1.สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA)
2.สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)
3.องค์กรปลดปล่อยชาติปะโอ(PNLO)
4.กองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย(DKBA)
5.แนวร่วมแห่งชาติชิน(CNF)
6.แนวร่วมประชาธิปไตยของมวลนักศึกษาพม่า(ABSDF)
7.พรรคปลดปล่อยอาระกัน(ALP)
8.สภาแห่งชาติกะเหรี่ยงสันติภาพ(KNU/KNLA-PC)
9.พรรครัฐมอญใหม่(NMSP)
10.สหภาพประชาธิปไตยลาหู่(LDU)
คณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST)/Cr. Photo: Karen Information Center -KIC
ก็ไม่รู้นะครับว่า หลังจากการประชุมและแสดงท่าทีอย่างนี้พลเอกยอดศึก จะโดนกองทัพพม่า ยิงปืนใส่ และเกิดการปะทะกันอีกหรือไม่
แต่การประชุมครั้งนี้ ถือว่า เป็นการออกมาถูกช่วงเวลา คือ หลังการประชุมผู้นำอาเซียน ที่จาร์กาต้า อินโดนีเซีย และได้ออกฉันทามติ 5 ข้อคือ
ประการแรกจะต้องยุติความรุนแรงในพม่าโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
ประการที่สองการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มต้นเพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
ประการที่สามทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
ประการที่สี่อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Center)
และประการที่ห้า ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางเยือนพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ที่บอกว่า ออกมาถูกช่วงเวลาที่ถูกต้อง ก็คือว่า ในการแก้ปัญหาของพม่าในตอนนี้ ต้องอาศัยทั้งการเมือง และทหาร โดยการเมืองระหว่างประเทศ นั้น อาเซียน ขยับเพราะการกดดันของสหประชาชาติ แต่การแก้ปัญหาหาจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยกลุ่มที่มี อำนาจทางด้านการทหาร ที่สามารถคัดง้างกับทหารของพม่าได้ ซึ่งต้นตอของปัญหาก็คือ ผู้นำทหารของพม่า หากไม่มีกลุ่มที่มีกำลังที่คัดง้างกับผู้นำทหารของพม่าได้ ยากที่จะแก้ปัญหาได้ แม้ว่าอาเซียน หรือ สหประชาชาติพยายามเข้ามาแก้ปัญหานี้ก็ตาม และสหประชาชาติก็ไม่กล้าใช้กำลัง เนื่องจากจีน กับรัสเซีย ไม่เอาด้วย
ตอนนี้ ในพม่า นอกจากกองกำลังเอกราชคะฉิ่น และ กองทัพอาระกัน หรือ AA ที่เป็นศัตรูสำคัญของทหารพม่าแล้ว ก็มีกลุ่มเจ้ายอดศึก ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์รวมกันถึง 10 กลุ่ม และมีกลุ่มใหญ่ๆ หลายกลุ่มรวมกันอยู่ โดยเฉพาะ สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน(RCSS/SSA) และ สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) ที่ทหารพม่า คิดหนักเมื่อจะต่อกรด้วย
แต่กองกำลังเอกราชคะฉิ่น และ กองทัพอาระกัน หรือ AA ก็ยังไม่มีท่าที่ชัดเจนต่อท่าทีของอาเซียน แต่หากมีในภายหลังก็ยิ่งทำให้การแก้ปัญหาง่ายขึ้น และสอดคล้องกับกลุ่มเจ้ายอดศึก
ดังนั้น กลุ่มเจ้ายอด จึงเป็นกลุ่มที่สามารถต่อรอง และต่อกร กับทหารพม่าได้ และหากได้รับการเห็นความสำคัญจากอาเซียน และสหประชาชาติ ในการร่วมแก้วิกฤติในพม่า ครั้ง จะเป็นการติดปีกให้กลุ่มเจ้ายอดศึก เลยทีเดียว
บวกกับยุทธศาสตร์ ของเจ้ายอดศึก ที่เน้นในการต่อสู้ทั้งการเมือง และการทหาร ณ นาทีนี้ ภาวะผู้นำของชาวยอดศึก ในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ ถือว่าโดดเด่นมาก
หากพิจาณากลุ่มเจ้ายอดศึก กับ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ของพม่า ที่ตั้งคณะกรรมการตัวแทนสภาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ของปีกอองซานซูจี นั้น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ อาจจะได้ในแง่ของมวลชน แต่ยังขาดกองกำลังทางทหาร ก็ไม่สามารถทำอะไรนายพลอาวุโสมินอองหล่าย ได้
ดังนั้น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ก็ต้องฐานกำลังของกลุ่มเจ้ายอดศึก เพื่อเป็นหลักประกันในชัยชนะครั้งนี้
หลังจากนี้จึงเชื่อว่า กลุ่มเจ้ายอดศึก จะเป็นหมากสำคัญที่จะถูกดึงเข้ามาแก้วิกฤติในพม่าครั้งนี้ ซึ่งคาดว่า บทบาทของเจ้ายอดศึกจากนี้นั้น จะไม่เหมือนเดิม แต่จะมีบทบาทสำคัญในการเมืองของพม่า และระดับนานาชาติ
ซึ่งนี้จะเป็นโอกาสนำพารัฐฉานสู่อิสระของชาวไทใหญ่ หลังรอคอยมากว่า 70 ปี แต่จะเป็นสหพันธรัฐ หรือ อะไรก็ว่ากันไป
แต่กระนั่นก็ตามชาวไทใหญ่ ก็ต้องระมัดระวังประวัติซ้ำรอย แบบที่เกิดในเหตุการณ์สนธิสัญญาปางโหลง ครับ